หุ่นยนต์ผลิตช็อกโกแลตหรือพราลีนตัวแรกของโลกที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตช็อกโกแลต Zotter
การสัมผัสประสบการณ์ที่โรงงานช็อกโกแลต Zotter ของกรรมการผู้จัดการ Josef Zotter มีผู้เข้าชมมากกว่า 270,000 คนต่อปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019 โลกแห่งช็อกโกแลตในหมู่บ้านแบร์เกิล (Bergl) ในประเทศออสเตรียใกล้เมืองรีเกอร์สบวร์กได้มีสิ่งที่น่าสนใจใหม่เพิ่มมากอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ หุ่นยนต์ผลิตช็อกโกแลตตัวแรกของโลกจาก KUKA ได้สร้างความสุขให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และเสิร์ฟช็อกโกแลตหรือช็อกโกแลตพราลีนให้กับแขกทั้งหมดตามความชอบของแต่ละคน “เราให้ความสำคัญกับความสนุกเป็นหลัก” Zotter กล่าว “เราอยากให้ทุกคนได้สัมผัสกับวิทยาการหุ่นยนต์ที่ทันสมัยที่สุด” อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ของ KUKA จำนวนสองตัวก็อยู่เบื้องหลังการผลิตของเราตั้งแต่ปี 2017 เช่นเดียวกัน โดยหุ่นยนต์ทั้งสองได้แปรรูปช็อกโกแลตเป็นพราลีนหรือเป็นแท่ง รวมถึงจัดการกับวัตถุดิบที่ไวต่ออุณหภูมิด้วยความแม่นยำสูงสุด
งานฝีมือแบบดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับวิทยาการหุ่นยนต์ล่าสุด
ตั้งแต่หญ้าฝรั่นและถั่วพิสตาชิโอ ไปจนถึงมะพร้าวสีชมพูและเยลลีรูปปลา: โรงงานช็อกโกแลต Zotter ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ปัจจุบันมีช็อกโกแลตมากกว่า 500 ชนิด รวมถึงมีโรงงานในเซี่ยงไฮ้และอีกแห่งในสหรัฐอเมริกา และมีพนักงานมากกว่า 200 คน ในจำนวนนี้ ในโรงงานทั้งสามแห่งมีหุ่นยนต์ของ KUKA อยู่สามตัว หุ่นยนต์สองตัวอยู่ในแผนกการผลิต ดูแลเรื่องการแปรรูปช็อกโกแลตเหลวในเมืองแบร์เกิล ประเทศออสเตรีย โรงงานแห่งนี้ใช้หุ่นยนต์ของ KUKA ประเภท KR AGILUS ทำไม เพราะหุ่นยนต์ประเภทดังกล่าวได้รับการพัฒนาเพื่อให้กระบวนการทำงานมีความแม่นยำและถูกต้องที่สุดในช่วงโหลดต่ำโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการจัดการกับช็อกโกแลต โดยมีจุดมุ่งหมายคือการผสมผสานงานฝีมือแบบดั้งเดิมเข้ากับวิทยาการหุ่นยนต์ล่าสุด ความท้าทายหลักคือการจัดการกับวัตถุที่ละเอียดอ่อน ซึ่งตอบสนองต่อความผันผวนของอุณหภูมิได้ง่าย หุ่นยนต์ KR AGILUS ที่มีขนาดกะทัดรัดได้รับการปรับแต่งให้เข้ากับลำดับการทำงานอย่างแม่นยำและสามารถรับมือกับงานนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
หุ่นยนต์ฟู้ดเกรดได้ผนวกเข้ากับการผลิตช็อกโกแลต
หุ่นยนต์จับแม่พิมพ์ที่เหมาะสมไปที่เครื่องหล่อช็อกโกแลต และเติมช็อกโกแลตเหลวลงไป จากนั้นจึงหมุนแม่พิมพ์ด้วยความแม่นยำสูงสุด เพื่อให้ช็อกโกแลตด้านในกระจายอย่างทั่วถึง แล้วนำไปใส่ในตู้เย็น จุดนี้คือจุดที่หุ่นยนต์ตัวที่สองเข้ามามีบทบาท หุ่นยนต์จะรวบรวมช็อกโกแลตที่เย็นแล้วจากตู้เย็นและวางไว้บนสายพานลำเลียงขาออก หุ่นยนต์ตัวที่สามในทีม Zotter จะดูแลความเป็นอยู่ของแขกที่ทางเดิน แขกสามารถเลือกช็อกโกแลตพราลีนที่ชื่นชอบได้ผ่านแผงสัมผัสของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์จะจับช็อกโกแลตที่แขกชื่นชอบด้วยถ้วยดูด ซึ่งให้ความบันเทิงเล็กน้อยด้วยการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะเล็กๆ แล้วเสิร์ฟช็อกโกแลตพราลีนที่ทางออก
KUKA สร้างความยืดหยุ่นในการผลิตช็อกโกแลตในอนาคต
Josef Zotter จะยังคงใช้งานฝีมือแบบดั้งเดิมต่อไปในอนาคต แต่ต้องการให้มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วยการใช้งานหุ่นยนต์ของ KUKA แรงจูงใจของเขาในการทำเช่นนี้ไม่ใช่ความปรารถนาที่จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดจำนวนพนักงาน ในทางกลับกัน Zotter กลับมีการจ้างพนักงานใหม่ๆ มากขึ้น นับตั้งแต่รวมหุ่นยนต์เข้ากับการผลิต การตัดสินใจรวมหุ่นยนต์นั้นมากจากความแม่นยำ ที่ไม่สามารถทำได้ด้วยมือ “KR Agilus สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำในช่วงหนึ่งร้อยมิลลิเมตร และคุณภาพยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง แม้จะผลิตช็อกโกแลตพราลีนไปแสนๆ ชิ้นแล้ว” ข้อดีอีกประการหนึ่งคือความยืดหยุ่น สามารถผลิตช็อกโกแลตหลายชนิดได้ในเวลาอันสั้น และ Zotter ก็มองการณ์ไกล ในอนาคต เขาต้องการผลิตช็อกโกแลตตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 ช็อกโกแลตพราลีนจะผลิตขึ้นโดยพิจารณาจากความต้องการของลูกค้าแต่ละราย โดยอ้างอิงมาจากข้อมูลลูกค้าที่เก็บรวบรวมไว้ ซึ่งจะรวมถึงข้อมูลการแพ้ เช่น การแพ้ฟรุกโตส หรือการแพ้อื่นๆ ด้วยเช่นกัน