เลือกตำแหน่งที่ตั้งของคุณ:

สถานที่

กรุณาเลือกภาษา:

“Robin” มุ่งยกระดับการผ่าตัดข้อเข่าด้วยหุ่นยนต์ขึ้นไปอีกขั้น

Orthokey ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์สัญชาติอิตาลีได้พัฒนาระบบหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า “Robin” ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในห้องผ่าตัด ระบบนี้ใช้ LBR Med จาก KUKA ช่วยให้สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งหมดโดยมีหุ่นยนต์ช่วยได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากมีระบบนำทางมาด้วย


การผ่าตัดข้อเข่าที่แม่นยำขึ้นด้วย “Robin”

ความสำเร็จในการผ่าตัดมักจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญของศัลยแพทย์ ยิ่งการผ่าตัดมีความซับซ้อนมาเพียงใด ศัลยแพทย์ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น หากเป็นการผ่าตัดด้วยมือตามปกติ ก็จะใช้อุปกรณ์แบบกลไก ซึ่งใช้เวลานานและอาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ง่าย แต่ “Robin” จาก Orthokey นับเป็นก้าวแรกของการศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์แบบอาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยขั้นสูง Robin คือระบบหุ่นยนต์ในการผ่าตัด ซึ่งจะคอยช่วยศัลยแพทย์ในการวางแผนและกำหนดตำแหน่งข้อเทียม และผ่าตัดนำกระดูกออกได้อย่างแม่นยำ ในการดำเนินการดังกล่าว ระบบจะใช้ข้อมูลผู้ป่วยแต่ละคน รวมถึงคุณลักษณะทางจลนศาสตร์และกายวิภาคที่จำเพาะเจาะจง “เราจะวางตัวติดตามหลายตัวไว้บนตัวผู้ป่วย ซึ่งกล้องสามารถเห็นตัวติดตามเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ โดยมีความละเอียดยิ่งกว่า 1 มิลลิเมตร ระบบนี้ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถวางแผนกำหนดตำแหน่งติดตั้งข้อเทียมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างถูกต้อง ก่อนจะดำเนินการผ่าตัด” คุณ Simone Bignozzi ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Orthokey กล่าวอธิบายถึงหลักการเบื้องหลัง “Robin”

อินเทอร์เฟซทั้งหมดของระบบนี้ช่วยให้กระบวนการที่ซับซ้อนเรียบง่ายขึ้นต่อผู้ใช้ และช่วยให้การผ่าตัดข้อเข่าด้วยหุ่นยนต์ง่ายดายกว่าที่เคย

การตัดสินใจเรื่องฟังก์ชันการทำงานและประสบการณ์

นายแพทย์ Domenico Alesi ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์จาก Istituto Ortopedico Rizzoli ในเมืองโบโลญญาได้กล่าวชื่นชมการใช้งานได้ง่ายของระบบนี้ไว้เป็นพิเศษว่า “’Robin’ เป็นระบบที่เข้าใจง่ายและดูน่าใช้ อินเทอร์เฟซทั้งหมดช่วยให้กระบวนการที่ซับซ้อนเรียบง่ายขึ้นต่อผู้ใช้ และช่วยให้การทำงานง่ายดายกว่าที่เคย” นอกจากนี้ “Robin” ยังใช้แนวทางแบบโมดูลาร์อีกด้วย ซึ่งคำนึงถึงผู้ผลิตข้อเทียมและแนวคิดของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป สุดท้าย Orthokey ใช้ส่วนประกอบที่มีคุณภาพสูงสำหรับโซลูชันในห้องผ่าตัด ซึ่งรวมถึง LBR Med ซึ่งเป็นหุ่นยนต์น้ำหนักเบาที่มีความไวจาก KUKA

วิศวกรที่ Orthokey ได้เปรียบเทียบหุ่นยนต์แบบต่าง ๆ และคิดหาวิธีปรับปรุงพัฒนาหุ่นยนต์ของทางบริษัท แต่แล้ว LBR Med จาก KUKA ก็ได้เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วยเหตุผลสามประการดังที่คุณ Maria Pasquini ซึ่งเป็น CTO ในโปรเจ็กต์ “Robin” ของ Orthokey กล่าวไว้ว่า “ประการแรกเลย แขนหุ่นยนต์ได้ผ่านการรับรองแล้วว่าสามารถผสานเข้ากับอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้รับรองระบบโดยรวมได้สะดวกขึ้น ทั้งยังช่วยให้พร้อมวางจำหน่ายออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้นด้วย ประการที่สองก็คือ ระบบนี้สามารถเคลื่อนไหวได้ในเจ็ดทิศทาง และมีเซนเซอร์อยู่ในข้อต่อแต่ละตัว ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำและความคล่องแคล่วของหุ่นยนต์เมื่อทำงานในห้องผ่าตัดได้ และประการที่สาม LRB Med เป็นโซลูชันที่สมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับ ทั้งยังมาพร้อมซอฟต์แวร์ที่เชื่อถือได้ เราจึงทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตั้งแต่เริ่มต้นเลย”

การพัฒนาข้อต่อ

ตั้งแต่แรกเริ่ม เรามีแนวคิดที่จะออกแบบระบบให้เรียบง่ายขึ้นและเล็กกว่าเมื่อเทียบกับโซลูชันอื่น ๆ Orthokey ได้พัฒนาต้นแบบรุ่นแรกขึ้นมาโดยร่วมมือกับ University of Verona “การพิสูจน์แนวคิดพร้อมใช้งานหลังผ่านไปแปดเดือน และหลังจากนั้นเก้าเดือน การพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ก็เสร็จสมบูรณ์ ผลิตภัณฑ์รุ่นแรกพร้อมใช้งาน และเอกสารก็ถูกส่งให้กับหน่วยงานรับแจ้งเพื่อขอรับรองผลิตภัณฑ์” คุณ Bignozzi ได้กล่าวอธิบายถึงเส้นทางการพัฒนา “Robin” กว่าจะนำไปใช้ในห้องผ่าตัดได้

ก่อนอื่น เครื่องมือนี้จะถูกติดตั้งอยู่กับระบบหุ่นยนต์

ตลอดกระบวนการ ทีมงานได้ร่วมมือกับทีมวิจัยและพัฒนาของ KUKA อย่างใกล้ชิดและได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของทีมดังกล่าวอย่างมาก “เป็นที่ชัดเจนว่า KUKA คือบริษัทด้านหุ่นยนต์ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างมากในการใช้งานทางการแพทย์ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากโปรเจ็กต์ต่าง ๆ มากมายมาใช้ได้ ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของสมาชิกแต่ละคนในทีมช่วยให้ ‘Robin’ ประสบผลสำเร็จ” คุณ Pasquini กล่าวย้ำ

การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เพื่อความแม่นยำระดับสูง

แล้วการนำ “Robin” เข้ามาใช้จะต้องทำอย่างไร ก่อนจะเริ่มการผ่าตัด เจ้าหน้าที่ประจำห้องผ่าตัดจะจัดเตรียมพื้นที่ผ่าตัดเพื่อให้การประสานงานกันระหว่างมนุษย์กับระบบหุ่นยนต์เป็นไปอย่างราบรื่น การกำหนดตำแหน่งของระบบหุ่นยนต์ให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งจะช่วยให้การทำงานร่วมกับทีมผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นและควบคุมการทำงานในห้องผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดตำแหน่งอุปกรณ์ให้แม่นยำและการปรับเทียบระบบหุ่นยนต์อย่างรอบคอบก็สำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นปราศจากปัญหาตลอดทุกขั้นตอน

“Robin” เป็นระบบที่เข้าใจง่ายและดูน่าใช้

ในระหว่างการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะใช้อินฟราเรดเพื่อบ่งชี้กายวิภาคของผู้ป่วยในระบบหุ่นยนต์ เครื่องหมายเหล่านี้จะทำให้อุปกรณ์ “เข้าใจ” ร่างกายของผู้ป่วย จากนั้น ระบบจะสามารถติดตามกายวิภาคและตำแหน่งของผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้มีการวางแนวและการนำทางที่แม่นยำในระหว่างการผ่าตัด

เนื่องจากกายวิภาคของผู้ป่วยจะได้รับการลงทะเบียนและปรากฏขึ้นบนหน้าจอ ศัลยแพทย์จึงวางแผนวิธีการผ่าตัดนำกระดูกออกได้อย่างแม่นยำ

เนื่องจากกายวิภาคของผู้ป่วยจะได้รับการลงทะเบียนและปรากฏขึ้นบนหน้าจอ ศัลยแพทย์จึงวางแผนวิธีการผ่าตัดนำกระดูกออกได้อย่างแม่นยำ การแสดงลักษณะของผู้ป่วยได้แบบละเอียดจะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถคิดหาแนวทางการผ่าตัดที่เหมาะสมได้ เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้ว แขนหุ่นยนต์ก็จะเข้ามาช่วยในการผ่าตัด “ก่อนอื่น แขนหุ่นยนต์จะทำงานในโหมดอัตโนมัติและเข้าถึงตัวผู้ป่วยอย่างแม่นยำ เมื่อถึงจุดที่ต้องการแล้ว การผ่าตัดก็จะเป็นไปในลักษณะของการทำงานร่วมกัน ในโหมดนี้ ศัลยแพทย์สามารถปรับแนวผ่าที่ ‘Robin’ กำหนดไว้บนร่างกายผู้ป่วยได้ด้วยตนเอง โดยแขนผ่าตัดจะคงความแม่นยำในระดับสูงเอาไว้และช่วยให้แนวผ่าได้รับการกำหนดตำแหน่งอย่างแม่นยำตลอดการผ่าตัด การทำงานร่วมกันเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในแต่ละขั้นตอนของการผ่าตัดนำกระดูกออกเพื่อให้มีความแม่นยำอย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ Alesi กล่าวอธิบายการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์กับหุ่นยนต์ทางการแพทย์

เมื่อการผ่าตัดนำกระดูกออกเสร็จสิ้นครบทั้งหมดแล้ว ศัลยแพทย์ก็จะกำหนดตำแหน่งของข้อเทียมบนตัวผู้ป่วย ในระหว่างช่วงสุดท้ายนี้ ศัลยแพทย์จะตรวจสอบจลนศาสตร์ของขาอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลลัพธ์โดยรวมบนหน้าจอของระบบหุ่นยนต์ “การตรวจสอบที่ครอบคลุมเช่นนี้ช่วยให้ข้อเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแม่นยำและช่วยให้การผ่าตัดมีผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เมื่อศัลยแพทย์ยืนยันว่าการผ่าตัดสำเร็จแล้ว การผ่าตัดก็จะเสร็จสิ้นลงและผู้ป่วยจะถูกส่งตัวเข้ารับการดูแลหลังผ่าตัด” นายแพทย์ Alesi กล่าว

คู่หูประจำห้องผ่าตัด

“Robin” พร้อมวางจำหน่ายออกสู่ตลาด ขณะนี้ ระบบนี้อยู่ระหว่างยื่นขอการรับรองตามกฎระเบียบด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ (MDR) ซึ่งหลังจากนั้น Orthokey ตั้งใจที่จะยื่นขออนุมัติเพิ่มเติมในประเทศต่าง ๆ เช่น ในปีหน้า Orthokey จะยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ในสหรัฐอเมริกา “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้และพัฒนาระบบของเราอยู่เสมอ เราจึงร่วมมือกับศูนย์อ้างอิงหลายแห่งทั่วโลก และเสียงตอบรับที่ได้ก็เป็นไปในเชิงบวกอยู่ตลอด ผู้ใช้ต่างชื่นชอบในขนาดและน้ำหนักของ ‘Robin’ รวมถึงความเรียบง่ายของขั้นตอนการผ่าตัด” คุณ Simone Bignozzi กล่าว

ผู้พัฒนาระบบจำเป็นต้องทำให้ศัลยแพทย์ไม่มองว่าหุ่นยนต์ทางการแพทย์เป็นคู่แข่ง แต่ให้มองว่าเป็นผู้ช่วยประจำห้องผ่าตัด ระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับศัลยแพทย์อายุน้อย ๆ เนื่องจากศัลยแพทย์เหล่านี้จะเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากระบบนี้ได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบทั่วไป “’Robin’ ไม่ได้เข้ามาเพื่อกีดกันโอกาสในการทำงาน แต่จะช่วยเพิ่มทักษะให้กับผู้ที่ใช้งาน เจ้าหน้าที่ประจำห้องผ่าตัด รวมถึงศัลยแพทย์ จะได้เรียนรู้วิธีสั่งงานอุปกรณ์เพิ่มเติมอย่างราบรื่น ศัลยแพทย์จะได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดที่คำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ และสามารถลดข้อผิดพลาดลงได้ โดยเฉพาะกับศัลยแพทย์ที่ผ่านการผ่าตัดมาไม่มากนัก การจัดเตรียมห้องผ่าตัดอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะน้อยมาก ระบบนี้มาพร้อมประโยชน์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน (Resident) และแพทย์เฉพาะทางต่อยอด (Fellow) ที่ดีขึ้น การทำความเข้าใจกระบวนการผ่าตัดข้อเข่าได้ดีขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมที่เชื่อถือได้ และการส่งเสริมให้มีการพัฒนาแนวทางในการผ่าตัดเพิ่มเติม” คุณ Maria Pasquini กล่าวย้ำ

ระบบหุ่นยนต์ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถวางแผนกำหนดตำแหน่งติดตั้งข้อเทียมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างถูกต้อง ก่อนจะดำเนินการผ่าตัด

การผ่าตัดข้อเข่าด้วยหุ่นยนต์ที่ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น

นายแพทย์ Domenico Alesi ยังมั่นใจด้วยว่า “Robin” จะช่วยยกระดับการผ่าตัดขึ้นไปอีกขั้น “โซลูชันนี้มุ่งพัฒนาการผ่าตัดให้แม่นยำขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดภาระงานของศัลยแพทย์ ลดความแตกต่างของศัลยแพทย์แต่ละคน และช่วยให้ได้ผลการผ่าตัดที่เหมือนกันในทุกครั้งและแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเห็นได้จากผลการผ่าตัดที่ดีขึ้น ในระยะกลาง ระบบนี้จะช่วยให้เราพัฒนาขั้นตอนการผ่าตัดให้ดีขึ้นไปอีก รวมถึงการตรวจหาปัจจัยที่มีผลกระทบและสำคัญที่สุด” ศัลยแพทย์ท่านนี้กล่าว

“Robin” พร้อมวางจำหน่ายออกสู่ตลาด

ระบบนี้มีความแม่นยำมาก และไม่ได้เหมาะกับทั้งศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเหมาะกับแพทย์จำนวนมากอีกด้วย

นายแพทย์ Domenico Alesi ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์จาก Istituto Ortopedico Rizzoli ในเมืองโบโลญญา
ผู้พัฒนาระบบจำเป็นต้องทำให้ศัลยแพทย์ไม่มองว่าหุ่นยนต์ทางการแพทย์เป็นคู่แข่ง แต่ให้มองว่าเป็นผู้ช่วยประจำห้องผ่าตัด

คุณ Frédéric Piasek ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ KUKA ตั้งตารอคอยสิ่งที่จะเกิดขึ้น “เรามีความร่วมมืออันดีเยี่ยมและเปิดกว้างกับ Orthokey เราสามารถพัฒนาโซลูชันนี้ได้อยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากมีการพูดคุยเกี่ยวกับอุปสรรคทางเทคนิคอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ เรายังติดต่อพูดคุยเกี่ยวกับจุดที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อยู่ตลอดอีกด้วย ผมอยากจะเห็นเลยว่าการร่วมมือระหว่างเรากับ Orthokey ในครั้งนี้จะให้ผลลัพธ์กับเราอย่างไรบ้าง”

ค้นหาพันธมิตรระบบ KUKA ในพื้นที่ของคุณ

ค้นหาพันธมิตรที่เหมาะกับอุตสาหกรรมของคุณหรืออุปสรรคที่คุณพบเจอได้ที่นี่

คุณอาจสนใจเรื่องต่อไปนี้ด้วย